เรียบเรียงโดย ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์
ยาไทยเป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน ยาที่ใช้แล้วให้ผลรักษาดีก็จะถูกคัดเลือกไว้และถ่ายทอดสืบต่อกันมา ยาที่ไม่มีฤทธิ์หรือมีพิษก็จะไม่ถูกเลือกใช้และสูญหายไป จากสังคมไทยตำ รับยารักษามะเร็งที่วัดคำประมงใช้รักษาผู้ป่วยก็เป็นยาสมุนไพรซึ่งให้ผลการรักษาดี ใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีผลการรักษาไม่แน่นอน อันเนื่องจากมีมะเร็งหลายชนิด การรักษาด้วยยาเคมี รังสี หรือการผ่าตัดไม่สามารถรักษาให้หายได้และเกิดผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น จากผลข้างเคียงและการรักษาที่ไม่ประสบผลสำเร็จตามแบบแผนของตะวันตก ทำให้การรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ยาสมุนไพรเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกและมีรายงานว่าประสบผลสำเร็จในการรักษา
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาจึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยและพัฒนาสูตรตำรับยาต้านมะเร็งวัดคำประมง สูตรยอดยาแก้มะเร็งทุกชนิด โดยเตรียมเป็นสารสกัดที่มีการวิเคราะห์คุณภาพ พร้อมทั้งเครื่องยาซึ่งเป็นวัตถุดิบ และพิสูจน์ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองในการป้องกันและยับยั้งเซลล์มะเร็ง
เมื่อวิทยาศาสตร์เข้าไปศึกษากลไกลการออกฤทธิ์ของสมุนไพรในตำรับก็พบว่า สูตรตำรับมีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้ สารสกัดยาต้านมะเร็งสูตรนี้สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิด ได้แก่ เซลล์มะเร็งเต้านม (MDA-MB-231, MCF-7) เซลล์มะเร็งไขข้อ (SW982) เซลล์มะเร็งตับ (HepG2) เซลล์มะเร็งปากมดลูก (HeLa) และเซลล์มะเร็งปอด (A549) และสามารถยับยั้งการเกิดเนื้องอกจากการเหนี่ยวนำด้วยสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่
1) การกระตุ้นเนื้องอกบนผิวหนังของหนูถีบจักร โดยการทาผิวหนังหนูด้วยสาร 7,12 dimethylbenz(a)anthracene (DMBA) ครั้งเดียว และตามด้วยการทา 12-O-tetradecanoyl phorbol-13 acetate (TPA)
2) การเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกในลำไส้โดยใช้สาร 1,2-dimethylhydrazine (DMH)
3) การเหนี่ยวนำมะเร็งตับระยะส่งเสริมในหนูด้วยไดเอธิลไนโตรซามีน (DEN)
ซึ่งมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมากและใช้รักษามะเร็งในสถานพยาบาลโดยแพทย์แผนปัจจุบันในอนาคตตำรับยารักษามะเร็งของไทยจะเป็นยารักษามะเร็ง ให้กับผู้ป่วยทั่วโลกได้
แหล่งที่มา
- ผลงานวิจัยเพื่อสังคม ตำรับยาสมุนไพรวัดคำประมง...จากภูมิปัญญาสู่งานวิจัย โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ภาควิชาเภสัชวินิจฉัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th
วันที่: 22-01-2025
|
|
|