ตำรับยาเลือดงามเป็นยาจากสมุนไพรรักษากลุ่มอาการทางสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา ซึ่งได้รับการบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือน มาเป็นปกติ แก้มุตกิดหรือตกขาว
------------------------------------------------------------------------
เครื่องยาประกอบด้วย เหง้าขิงแห้ง ตะไคร้ สะระแหน่ เหง้ากระชาย เหง้ากระทือ ผิวมะกรูด ใบมะนาว รากและใบกะเพรา หัวกระเทียม เปลือกเพกา โกฐจุฬาลัมพา ช้าพลู ลูกเร่วหอม ลูกจันทน์ ดอกกานพลู ดอกดีปลี เหง้าไพล พริกไทยล่อน รากเจตมูลเพลิงแดง รากชะเอมเทศ หนักสิ่งละ 5 กรัม และ พิมเสน การบูร หนักสิ่งละ 1 กรัม
ขนาดและวิธีใช้
ชนิดผง รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ชนิดแคปซูล รับประทานครั้งละ 1 – 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ข้อห้ามใช้
ห้ามใช้ในหญิงตกเลือดหลังคลอด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีไข้
ข้อควรระวัง
ควรระวังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตับ ไต เนื่องจากอาจเกิดการสะสม ของการบูรและเกิดพิษได้
งานวิจัยของจักรพรรณพงษ์ และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลของพริกไทย ขิง มะกรูด และตำรับยาเลือดงามมีฤทธิ์ ต้านการอักเสบโดยมีค่า IC50 เท่ากับ 1.31 ± 0.42, 2.87 ± 0.31, 3.03 ± 3.27 และ 28.18 ± 4.63 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรตามลำดับ เมื่อเทียบกับสารมาตรฐานคือ Indomethacin ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 25.04 ± 3.79 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารสกัดชั้นเอทานอลของกานพลู เพกา และขิง ซึ่งเป็นส่วนประกอบในตำรับมีฤทธิ์ดีกว่าสารมาตรฐาน Butylated hydroxytoluene (BHT) โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 9.20 ± 0.29, 9.94 ± 0.91, 14.34 ± 0.28 และ 15.84 ± 1.42 ไมโครกรัม ต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ
เอกสารอ้างอิง
จักรพรรณพงษ์ ธีรปณิธาน, และคณะ 2558. ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ของตำรับยาเลือดงาม และส่วนประกอบในตำรับ. ธรรมศาสตร์เวชสขาร. 15 (3): 376-83.
วันที่: 22-01-2025
|
|
|