Support
bangkoklab
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

ต้องระวัง!...การใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน

blc@bangkoklab.co.th | 20-11-2560 | เปิดดู 3142 | ความคิดเห็น 0
  • product id 1173711,803480
  • product id 2173711,813272
  • product id 3173711,803479
  • product id 4173711,803474
  • product id 5173711,803472
  • product id 6173711,803470

 

 

เนื่องจาก"ยาสมุนไพร" คือ ยาที่ได้จากธรรมชาติ ส่วนใหญ่ได้จากพืช ซึ่งมีสารสำคัญนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษา หรือส่งเสริมสุขภาพ จึงจัดว่า "สมุนไพร" เป็นยาชนิดหนึ่งและอาจส่งผลทั้งในด้านคุณประโยชน์ และผลเสียต่อผู้ใช้ได้ ดังที่ปรากฎกับยาทั่วไป ดังนั้น จึงควรใช้สมุนไพรเท่าที่จำเป็น ทั้งยังต้องระวังผลข้างเคียง และปฏิกิริยากับยาอื่นๆ ได้ ดังนี้

 

กระเทียม กับวาร์ฟาริน-ยาละลายลิ่มเลือด

 

กระเทียม ที่ใช้ปรุงอาหารหลากหลายชนิด และมีสรรพคุณทางยาไทยจำนวนมากเมื่อใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับวาร์ฟาริน (Warfarin) ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือด ใช้ป้องกันหลอดเลือดอุดตันในโรคหัวใจและสมอง จะเกิดปฏิกิริยาต่อกัน หรือเกิดการตีกัน โดยสารสำคัญในกระเทียมไปยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ส่งผลให้มีโอกาสทำให้เลือดออกไหลไม่หยุด ซึ่ง ตังกุย เป็นสมุนไพรจีน จะมีฤทธิ์ต่อยาวาร์ฟารินได้ด้วยกลไกและผลเช่นเดียวกันนี้

 

 

แปะก๊วย กับแอสไพรินและวาร์ฟาริน

 

แปะก๊วย มีจำหน่ายทั้งในรูปแบบยาแผนปัจจุบันซึ่งเป็นสารสกัดและในรูปของสมุนไพรเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงที่สมอง แต่เมื่อใดที่ใช้ร่วมกับแอสไพริน และ/หรือวาร์ฟาริน จะพบว่าสารกิงโกไลด์ บี (Ginkgolide B) ซึ่งเป็นสารสำคัญในแปะก๊วยจะส่งผลยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จะไปต้านฤทธิ์ของยาแอสไพริน และ/หรือวาร์ฟาริน ทำให้เลือดออกได้ง่าย การแข็งตัวของเลือดช้ากว่าปกติ และเลือดไหลไม่หยุดได้

 

 

ชะเอม กับเพรดนิโซโลน

 

ชะเอม มีสรรพคุณรสหวาน บำรุงกำลัง แก้คอแห้ง ทำให้หัวใจชุ่มชื่น แต่หากมาใช้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ซึ่งเป็นกลุ่มคอร์ติโค สเตียรอยด์ ที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายด้าน ไม่ว่า จะลดการอักเสบ กดภูมิคุ้มกันแก้ภูมิแพ้ เป็นต้น เมื่อใช้ร่วมกันสารสำคัญจากชะเอมจะไปยับยั้งเอ็นไซม์ที่ทำลายยาเพรดนิโซโลน ทำให้ระดับยาเพรดนิโซโลนไม่ถูกทำลายตามปกติ ระดับยาเพรดนิโซโลนจะคงอยู่ในร่างกายนานขึ้น มีความเข้มข้นสูงขึ้นและมีระยะเวลาในการออกฤทธิ์ได้นานขึ้น และทำให้อาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น เช่น กดภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อได้ง่ายเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และกระดูกพรุนได้

 

ชาและชาเขียว กับวาร์ฟาริน กรดโฟลิก และวาสแตติน

 

ชาและชาเขียว จะส่งผลต่อยาหลายชนิด ได้แก่ ยาวาร์ฟาริน ซึ่งเป็นยาละลายลิ่มเลือด เมื่อใช้ร่วมกับชาหรือชาเขียว ซึ่งจะมีวิตามิน เค จะไปต้านฤทธิ์ของยาวาร์ฟารินทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา แต่ถ้ามีการใช้ชาหรือชาเขียวร่วมกับกรดโฟลิก (folic acid) ชาและชาเขียวจะยับยั้งการดูดซึมของกรดโฟลิกในทางเดินอาหาร ส่งผลให้กรดโฟลิกไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด จึงไม่ได้ผลในการรักษา และหากใช้ ชาหรือชาเขียว ร่วมกับยาซิมวาสแตติน(sivastatin) ซึ่งเป็นยาลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด เมื่อใช้ร่วมกับชาหรือชาเขียว จะทำให้ผลข้างเคียงของยาต่อตับและกล้ามเนื้อของยาซิมวาสแตตินเพิ่มมากขึ้น

 

โสม กับอิมมาตินิบและฟิเนลซีน

 

โสม ซึ่งเป็นพืชสัญลักษณ์ของประเทศเกาหลี และมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง แต่หากนำมาใช้พร้อมกับยาอิมมาตินิบ ซึ่งเป็นยารักษามะเร็ง สารจินเซนโนไซด์ (Ginsenoside) ที่เป็นสารสำคัญในโสม จะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 3A4 (CYP3A4) ทำให้อัตราการทำลายยาลดลง ส่งผลให้ระดับยาในเลือดสูงและอยู่นานยิ่งขึ้น และอาจเกิดผลข้างเคียงมีพิษต่อตับได้นอกจากนี้โสม ยังส่งผลต่อยาฟิเนลซีน ซึ่งเป็นยาต้านการซึมเศร้า เมื่อใช้ร่วมกัน สารจินเซนโนไซด (Ginsenoside) จะยับยั้งการทำงานของ cAMP phosphodiesterase ทำให้อาการข้างเคียงของยาเพิ่มขึ้น เช่น ฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท

 

สรุป

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน อาจเกิดขึ้นได้ โดยสมุนไพรอาจจะส่งผลต่อการดูดซึมของยา ตัวอย่างเช่น ชาและชาเขียวกับกรดโฟลิก หรือในขั้นตอนการทำลายยา เช่น โสม กับ อิมมาตินิบ หรือสมุนไพรออกฤทธิ์ต่อยาโดยตรง เช่น แปะก๊วย กับ แอสไพรินและวาร์ฟาริน เป็นต้น ซึ่งบางโอกาสอาจมีอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นก่อนใช้สมุนไพรจึงควรปรึกษา แพทย์ หรือ เภสัชกร ก่อนทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาอนึ่ง สมุนไพร ที่มีการนำมาใช้เป็นอาหาร อาจมีความปลอดภัยสูงกว่า สมุนไพรที่ไม่ได้นำมาใช้เป็นอาหาร

 

ข้อมูลโดย : อ.ดร.วิรัตน์  ทองรอด

                คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

 

 

บรรณานุกรม

Yvette C. Terrie. Using Herbal Supplements Safely. http//www.pharmacytimes.com/publicatins/issue/2012/-using-herbal-supplements-safely.{Accessed Date: 17th july 2017}

Wikihow. How to Use Herbal Supplement Safely. Htttp://www.wikihow.com/Use-Herbal-Supplements_Safely. {Accessed Date: 17th July 2017}

ยุวดี  วงษ์กระจ่าง, วสุ ศุภรัตนสิทธิ. ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร. http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/270/ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพร/. { วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม พ.ศ.2560}

ความคิดเห็น

วันที่: Fri Mar 29 21:30:02 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0
Desktop Version
 
Google analytics