Support
bangkoklab
Your shopping cart
ดูตะกร้าสินค้าของคุณ
ไม่มีสินค้าในตะกร้าของคุณ

วิวัฒนาการของยาไทย

annmink | 02-12-2559 | เปิดดู 2920 | ความคิดเห็น 0
  • product id 1177439,830982
  • product id 2177439,830984

     

 

ตั้งแต่โบราณกาล เมื่อมีการเจ็บไข้ได้ป่วย มนุษย์แสวงหาพืชมาใช้รักษาบรรเทาอาการ ซึ่งกระบวนการในการเลือกยาก็อาศัยหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหมือนที่ใช้กันในปัจจุบัน แรกเริ่มเดิมทีนั้นมนุษย์เลือกพืชโดยอาศัยการสังเกต พืชชนิดใดกินได้หรือกินไม่ได้ก็สังเกตจากการกินของสัตว์ สัตว์ป่วยด้วยอาการอย่างนี้แล้วมันกินพืชอะไร คนก็กินตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกินตามสัตว์โดยไม่พิจารณาเลยก็หาไม่ ลูกไม้บางชนิดนกกินแต่ลิงไม่กินคนก็จะไม่นำมากิน เพราะจากการทดลองกินก็พบว่า ลูกไม้ที่นกกินแต่ลิงไม่กินเมื่อคนกินแล้วเกิดพิษ แต่ลูกไม้ใดที่ลิงกินเมื่อคนนำมากินแล้วไม่เกิดพิษ สิ่งที่ได้จากการสังเกตและการทดลองนี้ก็ได้รับการบอกเล่าต่อกันมา พืชใดที่ใช้รักษาโรคแล้วหายก็ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นสั่งสมเป็นภูมิปัญญาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน พอวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญขึ้นก็มีการอธิบายเหตุผลได้ว่าเพราะนกมีลำไส้สั้นจึงไม่ดูดซึมสารพิษ ต่างกับลิงที่มีลำไส้ยาวเหมือนคน ดังนั้น คนเลือกกินพืชเหมือนที่ลิงกินก็จะไม่ได้รับพิษ

 

   ตำรับยาโบราณที่ใช้รักษาโรคจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งนับเวลาแล้วได้หลายพันปี ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่าในตำรับมีสารใดที่ออกฤทธิ์รักษาโรค จนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ค้นพบตัวยา ก็แยกเฉพาะสารเคมีเดี่ยว ๆ ออกมาใช้รักษาโรค เพราะสามารถกำหนดปริมาณของยาได้ ซึ่งเป็นการควบคุมคุณภาพของยาตามหลักสากล ตัวอย่างเช่น ในอดีตใช้ดองดึงตำพอกรักษาโรคปวดข้อ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ นำมาปรุงเป็นยารับประทานจะสามารถรักษาโรคเรื้อน กามโรค ขับลม ปัจจุบันพบสาร colchicine จากดองดึงใช้รักษาโรคปวดข้อหรือเกาต์ ก็นำสาร colchicine เดี่ยว ๆ มาใช้ ซึ่งดองดึงเองมีพิษ แต่ยาไทยที่เป็นตำรับจะมีสมุนไพรอื่นแก้พิษจากดองดึงผสมอยู่

 

     ยาไทยส่วนใหญ่จึงเป็นยาตำรับ ใช้สมุนไพรหลายตัวประกอบกันจึงจะส่งเสริมฤทธิ์และลดพิษกัน เช่น ยาประสะไพล ยาธรณีสันฑะฆาต ยาหอม การวิจัยพบว่าเมื่อนำเครื่องยาในตำรับประสะไพลมารวมเข้าสูตรตามตำรับจะเกิดสารใหม่จากน้ำมันในไพล กับสารอื่นในตำรับ พบว่าสามารถยับยั้งการอักเสบของมดลูกได้ ซึ่งตรงกับภูมิปัญญาโบราณที่นำยาประสะไพลมาใช้รักษาอาการปวดประจำเดือน ดังนั้น หากมีการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ควบคู่ภูมิปัญญาในการควบคุมคุณภาพของยาโดยตรวจวัดปริมาณของสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ก็จะทำให้ยาในแต่ละครั้งของการผลิตมีคุณภาพสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค และมีความปลอดภัย แต่ไม่ได้หมายความว่าตัวยาเดี่ยว ๆเพียงตัวเดียวจะให้ผลการรักษา สำหรับยาไทยนั้นต้องอาศัยตัวยาหลายตัวรวมกัน ตัวหนึ่งขับลม ตัวหนึ่งช่วยย่อย ตัวหนึ่งลดไข้ ตัวหนึ่งช่วยเจริญอาหาร ต้องออกฤทธิ์ร่วมกัน โรคจึงหาย เหตุที่เป็นเช่นนั้นคือ คนป่วยจะมีอาการตัวร้อน ยาตัวหนึ่งก็ลดไข้คลายตัวร้อน คนป่วยไม่อยากอาหาร ก็มีตัวยาช่วยเจริญอาหาร คนป่วยก็จะรับประทานอาหารได้มากขึ้นส่งผลให้ร่างกายได้สารอาหารก็จะแข็งแรงเร็ว มีกำลัง อีกตัวยาหนึ่งก็ช่วยเสริม คือ เมื่อร่างกายได้รับอาหารแล้วก็ช่วยให้การย่อยเกิดได้ดี เมื่อมีการย่อยก็เกิดลมในลำไส้ ตัวยาอีกตัวก็ช่วยขับลม มันจึงเกิดสมดุล ที่ป่วยกันเพราะร่างกายเสียสมดุล ยาไทยรักษาที่สมดุล จึงต้องใช้ตัวยาหลายชนิด ดังนั้น การวินิจฉัยและการรักษาโรคจึงต้องใช้แพทย์แผนโบราณ ไม่สามารถใช้แบบเดียวกับแพทย์แผนปัจจุบัน เพราะแพทย์แผนปัจจุบันรักษาเพียงอาการเดียว ไม่ใช่รักษาสมดุล

เรียบเรียง ดร.เริงฤทธิ์ สัปปพันธ์

ความคิดเห็น

วันที่: Sat Apr 20 13:59:11 ICT 2024

แสดงความคิดเห็น
All Comments: 0 Pages: 1/0
Desktop Version
 
Google analytics